จป.วิชาชีพคือใคร มีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง ?
จป.วิชาชีพ คือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานวิชาชีพ

             จป.วิชาชีพ สายอาชีพชื่อแปลกที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นหู หรือบางคนอาจจะไม่เคยรู้เลยก็ได้ว่ามีสายอาชีพนี้อยู่ แท้จริงแล้ว จป.วิชาชีพไม่ใช่สายงานที่แปลกใหม่อะไร มิหนำซ้ำ ยังอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอีกต่างหาก เพราะ จป.วิชาชีพ คือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานวิชาชีพ (Safety Officer) มีหน้าที่สอดส่องดูแลความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายในสถานที่ต่าง ๆ นั่นเอง

อยากเป็น จป.วิชาชีพ ต้องจบอะไร รู้ไว้ เริ่มต้นอาชีพได้มั่นคง

ความหมายและหน้าที่หลักของ จป.วิชาชีพ

             “จป.” ย่อมาจาก “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลและควบคุมมาตรฐานด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการ โดยระดับสูงสุดในสายอาชีพจะอยู่ที่ตำแหน่ง จป.วิชาชีพ หรือ Safety Officer Professional Level คือผู้ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบและป้องกันอุบัติเหตุในที่ทำงาน รวมถึงการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยให้แก่พนักงานและองค์กร

หน้าที่หลักของ จป.วิชาชีพ

  • แนะนำให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย เกี่ยวกับข้อกำหนดด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าสถานประกอบการเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
  • ประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายในสถานที่ทำงาน จากนั้นนำเสนอแนวทางแก้ไขและกำหนดมาตรการป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุที่มีประสิทธิภาพ
  • ให้คำแนะนำและอบรมเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย รวมถึงการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
  • เมื่อเกิดอุบัติเหตุในที่ทำงาน จป.วิชาชีพต้องทำหน้าที่สืบสวนและวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริง พร้อมทั้งเสนอแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ
  • จัดอบรมเกี่ยวกับชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานให้แก่พนักงาน เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
ความหมายและหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน จป.วิชาชีพ

จป. หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยมีกี่ระดับ ?

             ตามประกาศของกระทรวงแรงงาน ปี พ.ศ. 2565 กำหนดให้ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานมี 5 ระดับ ได้แก่

  • จป.ระดับบริหาร (Safety Officer Management Level) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยในองค์กร
  • จป.ระดับหัวหน้างาน (Safety Officer Supervisory Level) ควบคุมการทำงานของพนักงานในส่วนงานของตนให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย
  • จป.ระดับเทคนิค (Safety Officer Technical Level) ดูแลและให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน เช่น โรงงาน หรือไซต์ก่อสร้าง
  • จป.ระดับเทคนิคขั้นสูง (Safety Officer Advanced Technical Level) มีความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเชิงลึก สามารถวิเคราะห์และป้องกันความเสี่ยงที่ซับซ้อนได้
  • จป.ระดับวิชาชีพ (Safety Officer Professional Level) ระดับสูงสุดของ จป. มีหน้าที่ควบคุม วางแผน และบริหารมาตรฐานความปลอดภัยขององค์กร
ผู้ปฏิบัติงาน จป.วิชาชีพกำลังตรวจสอบความเรียบร้อยของสถานที่

ตัวอย่างสถานประกอบการที่ถูกกำหนดให้ต้องมี จป.วิชาชีพ

             เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้ได้มาตรฐาน กฎหมายจึงกำหนดให้สถานประกอบการบางประเภทจำเป็นต้องมี จป.วิชาชีพคอยสอดส่องดูแลความปลอดภัยของสถานที่และพนักงาน ยกตัวอย่างเช่น

  • โรงงานอุตสาหกรรม เช่น เหมืองแร่ ปิโตรเคมี สิ่งทอ แปรรูปกระดาษ
  • กิจการคลังสินค้า ไซโล ห้องเย็น ศูนย์กระจายสินค้า
  • ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจค้าส่ง
  • ศูนย์จัดการประชุมและการจัดแสดงสินค้า
  • ธุรกิจสถาบันการเงินและธนาคาร

อยากทำงานในสาย จป.วิชาชีพต้องจบอะไร มีคุณสมบัติอะไรบ้าง ?

             เมื่อ จป.วิชาชีพ คือฟันเฟืองสำคัญในการรักษาความปลอดภัยและคุ้มครองชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน จึงต้องกำหนดคุณสมบัติอย่างรัดกุม โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จะประกอบอาชีพ จป.วิชาชีพต้องเรียนจบในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องและมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • จบการศึกษาจากสาขาอาชีวอนามัยในระดับปริญญาตรี, จบการศึกษาจากหลักสูตร จป.วิชาชีพ หรือเทียบเท่า
  • เคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ ตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
  • มีความรู้ด้านกฎหมายความปลอดภัย รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและอาชีวอนามัย
  • ขยัน อดทน และพร้อมรับมือกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ไซต์ก่อสร้าง หรือสถานที่ที่ต้องปฏิบัติงานภายใต้สภาวะที่มีสารเคมี หรือเครื่องจักรขนาดใหญ่
  • มีทักษะการแก้ไขปัญหาและจัดการเหตุฉุกเฉิน เช่น การรับมือกับอุบัติเหตุในที่ทำงาน การดับเพลิงเบื้องต้น การให้การปฐมพยาบาล และการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเป็นระบบ รวมถึงการตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

             หากคุณมีคุณสมบัติที่เหมาะสมและมองเห็นโอกาสจากงาน จป.วิชาชีพ รวมถึงกำลังมองหางานในสายอาชีพนี้ ค้นพบตำแหน่งงานที่ใช่จากหลากหลายองค์กรชั้นนำ พร้อมรายละเอียดและข้อมูลที่จำเป็นในการหางาน จป.วิชาชีพได้ที่เว็บไซต์ JOBTOPGUN พร้อมตัวช่วยสร้างเรซูเม่อันทรงพลัง เพิ่มโอกาสได้งานที่ต้องการให้สูงขึ้น ใช้งานสะดวกผ่านแอปพลิเคชัน ดาวน์โหลดฟรีทั้งระบบ iOS และ Android

ข้อมูลอ้างอิง

  1. จป.คืออะไร หน้าที่ จป วิชาชีพ 13 ข้อตามกฎหมายใหม่ 2565. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 จาก //www.safesiri.com/what-is-safety/
  2. หน้าที่จป.วิชาชีพตามกฎกระทรวง 2565 มีอะไรบ้าง. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 //เซฟตี้อินไทย.com/article_detail?article=หน้าที่จป.วิชาชีพตามกฎกระทรวง%202565%20มีอะไรบ้าง
  3. เรียน จป วิชาชีพ เริ่มต้นอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 //www.safesiri.com/howto-jorpor-officer-learning/ 
สมัครงานกับบริษัทชั้นนำทันที สร้าง Super Resume (ใบสมัครงาน) เลย ฟรี!

คำค้นหายอดนิยม

..
OSZAR »